เทคโนโลยีสารสนเทศ ง30201

รายวิชาเทคโนโลยีสาระสนเทศ
ความหมายของการนำเสนอข้อมูล
        การนำเสนอข้อมูล  หรือรายงานการค้นคว้า  คือ  การเรียบเรียงความรู้ความคิดของผู้รายงาน โดยใช้เอกสารอ้างอิงต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบ  โดยลำดับเนื้อเรื่องของรายงานให้สัมพันธ์กัน

ประเภทของการนำเสนอข้อมูล
        1.  การนำเสนอข้อมูลเป็นรูปเล่ม  หรือรายงานรูปเล่ม
        2.  การนำเสนอข้อมูลด้วยวาจา  หรือการรายงานปากเปล่า
        3.  การนำเสนอข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยี

ขั้นตอนการนำเสนอข้อมูล  (ประพนธ์  เรืองณรงค์  และคนอื่น ๆ,  2545, หน้า 149)
        1.  การกำหนดเรื่องและขอบเขตของเนื้อหา  ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
             1.1  ความสำคัญหรือความน่าสนใจของเรื่อง  เรื่องที่จะทำรายงานควรเป็นเรื่องที่มี ประเด็นน่าสนใจและน่าติดตาม
             1.2  เรื่องที่จะทำรายงานควรเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจและถนัด  เพราะจะช่วยให้ผู้เรียน เกิดความกระตือรือร้นในการทำรายงานและสามารถศึกษาค้นคว้าได้อย่างมีประสิทธิผล
             1.3  แหล่งข้อมูลที่ใช้ศึกษาเรื่องที่จะทำรายงาน  ควรมีแหล่งข้อมูลและข้อมูลมากพอที่จะศึกษาได้  ไม่ควรเลือกเรื่องที่มีข้อมูลน้อยหรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้
             1.4  ขอบเขตของเรื่อง ผู้เรียนควรกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษาให้เหมาะสมกับ เวลาที่ใช้ในการทำรายงาน และความสามารถของผู้เรียน  เช่น  หากผู้เรียนมีเวลาน้อย  แต่จะต้องรายงานเกี่ยวกับวรรณคดีไทย  ผู้เรียนอาจเลือกทำรายงานเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  หรือศึกษาเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงเรื่องที่กว้างเกินไป  เช่น วรรณคดีไทย มรดกโลก  เป็นต้น
        2.  การวางโครงเรื่อง  ควรวางโครงเรื่องให้สอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้  มีวิธีดำเนินการ 5  ขั้นตอน  ดังนี้  (กระทรวงศึกษาธิการ, 2544, หน้า 38-39)
             2.1  ขั้นประมวลความคิด  เป็นขั้นที่ได้จากเก็บรวบรวมข้อมูลจากการอ่าน  การฟัง การได้รับประสบการณ์ มาคิดพิจารณาแยกออกเป็นประเด็นย่อย ๆ แล้วเขียนรวบรวมประเด็นย่อยไว้ทั้งหมด  เช่น  การวางโครงเรื่อง  เรื่องระบบสุริยะ  ให้ผู้เรียนพยายามคิดว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับระบบสุริยะ  ให้เขียนออกมาทุกประเด็น  ดังนี้
                     2.1.1  กำเนิดระบบสุริยะ
                     2.1.2  กำเนิดดวงอาทิตย์
                     2.1.3  ดาวเคราะห์น้อย
                     2.1.4  ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
                     2.1.5  ตำแหน่งของดาวเคราะห์
                     2.1.6  ขนาดของดาวเคราะห์
                     2.1.7  ลักษณะของดาวเคราะห์
                     2.1.8  สมบัติของดาวเคราะห์
                     2.1.9   การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์
                     2.1.10  ดาวหาง
                     2.1.11  กลุ่มดาวจักรราศี
                     2.1.12  กลุ่มดาวในคำกลอนสุนทรภู่
                     2.1.13  เอกภพ
                     2.1.14  มนุษย์อวกาศ
                     2.1.15  อุกาบาต
             2.2  ขั้นเลือกสรรความคิด เป็นขั้นที่พิจารณาว่า ประเด็นที่รวบรวมได้ทั้งหมดนั้นสนับสนุนสอดคล้อง กับจุดมุ่งหมายของเรื่องที่ต้องการรายงานหรือไม่  ถ้าไม่ต้องการให้ตัดออก  ได้แก่  หัวข้อที่  2.1.2, 2.1.11, 2.1.12, 2.1.13, 2.1.14
             2.3  ขั้นจัดหมวดหมู่ความคิด  เป็นการนำเอาประเด็นที่ได้คัดสรรแล้วมาพิจารณารวม เป็นกลุ่ม หรือหมวดหมู่ โดยอาจพิจารณาเป็นประเด็นใหญ่  ประเด็นย่อยที่จัดหมวดหมู่นั้น ได้แก่  หัวข้อที่  2.1.4, 2.1.5, 2.1.6, 2.1.7, 2.1.8  และ  2.1.9  ควรอยู่ในกลุ่มเดียวกัน  หัวข้อ  2.1.3, 2.1.4  และ  2.1.15  ควรอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
             2.4  ขั้นลำดับความคิด นำเอาประเด็นหลักที่ได้มาจัดเรียงลำดับก่อนหลัง เพื่อให้ง่าย ต่อการจัดลำดับความคิดในการนำเสนอเนื้อหา  จากเริ่มต้นนำเสนอจนจบ  ดังนี้
                     2.4.1  กำเนิดระบบสุริยะ
                     2.4.2  ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
                              1)  ตำแหน่งของดาวเคราะห์
                              2)  ขนาดของดาวเคราะห์
                              3)  ลักษณะของดาวเคราะห์
                              4)  สมบัติของดาวเคราะห์
                              5)  การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์
                     2.4.3  ดาวหาง
                     2.4.4  ดาวเคราะห์น้อย
                     2.4.5  อุกาบาต
             2.5  ขั้นขยายความคิดและตรวจสอบความสมบูรณ์  เป็นขั้นปรับปรุงโครงเรื่อง ที่ได้จัดวางไว้นั้น ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยอาจเติมในส่วนที่ยังขาดอยู่  ได้แก่  หัวข้อที่  2), 3)  และ  4)  น่าจะรวมกันได้เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน หัวข้อ 2.4.3, 2.4.4  และ  2.4.5 น่าจะรวมกันเป็นอีกหัวข้อหนึ่ง  โครงเรื่องจะปรับใหม่ได้เป็น
                     2.5.1  กำเนิดระบบสุริยะ
                     2.5.2  ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
                              1)  ตำแหน่งของดาวเคราะห์
                              2)  ลักษณะและสมบัติของดาวเคราะห์
                              3)  การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์
                     2.5.3  บริวารดวงอาทิตย์ที่ไม่ใช่ดาวเคราะห์
                              1)  ดาวหาง
                              2)  ดาวเคราะห์น้อย
                              3)  อุกาบาต
                              2.5.4  การสำรวจระบบสุริยะ
        3.  การสำรวจแหล่งข้อมูล  ข้อมูลที่ใช้ในการทำรายงาน  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ
             3.1  ข้อมูลจากเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ เป็นข้อมูลที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หนังสือ บทความ  วิทยานิพนธ์  รายงาน  หนังสืออ้างอิง  วารสาร  นิตยสาร  หนังสือพิมพ์  จุลสาร กฤตภาค จารึกและจดหมายเหตุ  แผ่นภาพโปสเตอร์  อินเทอร์เน็ต   เป็นต้น
             3.2  ข้อมูลภาคสนาม  เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นจากการสำรวจ  การสังเกต  การสัมภาษณ์  แบบสอบถาม หรือการทดลอง
        4.  การรวบรวมข้อมูล  เมื่อผู้เรียนสำรวจข้อมูลที่จะศึกษาแล้วต้องเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการจัดระเบียบข้อมูล หรือแยกข้อมูลออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป  โดยการทำบัตรบันทึกข้อมูล   
        5.  การวิเคราะห์ข้อมูล  ขั้นตอนนี้เป็นการทำความเข้าใจข้อมูลและตีความข้อมูลที่ศึกษา จากนั้นจึงแยกแยะข้อมูล และจัดกลุ่มข้อมูล หากเป็นข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นผู้เรียนต้องอภิปรายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น ๆ หากเป็นข้อมูลภาคสนาม  เช่น  ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถาม  หรือการทดลอง  เป็นต้น  ผู้เรียนอาจใช้วิธีการทางสถิติร่วม
        6.  การเรียบเรียงเนื้อหาของรายงาน นำข้อมูลที่จัดระเบียบ วิเคราะห์ และตีความแล้ว  มาเรียบเรียงให้เป็นลำดับขั้นตอน เขียนด้วยสำนวนภาษาของตนเองโดยเขียนให้ชัดเจนตรงไปตรงมา ใช้ภาษาที่เป็นภาษาระดับทางการ  จะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลทุกครั้ง

ขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลด้วยวาจา  หรือการรายงานปากเปล่า  (กรมวิชาการ, 2539, หน้า  88-89)
        การนำเสนอข้อมูลด้วยวาจา หรือการรายงานปากเปล่า  เป็นการนำรายละเอียดที่ได้จาก การศึกษาค้นคว้า มารายงานหน้าชั้นเรียน  โดยใช้เวลา  8-10  นาที  ผู้รายงานอาจใช้สื่อประกอบการพูด เพื่อเร้าความสนใจของผู้ฟัง เช่น  รูปภาพ  แผนภูมิ  Power Point เป็นต้น  ผู้รายงานควรปฏิบัติ  ดังนี้
        1.  มีการแนะนำตัว  และเปิดเรื่องบอกให้ผู้ฟังทราบว่าจะพูดเรื่องอะไร
        2.  ใช้ภาษาที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจน  จังหวะ วรรคตอน การพูด  เสียงในการพูดไม่ค่อยเกินไป
        3.  บุคลิกท่าทางในการพูด  มีความมั่นใจ  การใช้น้ำเสียงนุ่มนวล  รักษาเวลาในการพูด
        4.  มีมารยาทในการพูด  ใช้ภาษาสุภาพ  ไม่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม  โกรธเคืองหรือดูหมิ่นผู้ฟัง
        5.  รายงานตามลำดับหัวข้อที่เตรียมมา  ไม่พูดวกวน  มีการสรุปเรื่องที่พูดได้ชัดเจนกระชับ
        6.  เปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถาม

การนำเสนอข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยี  (นิตยา  หัตถสินโยธิน,  2521, หน้า  102-103)
        การนำเสนอข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยี  ต้องมีประเด็นความคิดที่ชัดเจน  การออกแบบสื่อที่ถูกต้อง  มีเค้าโครง  มีความเรียบง่ายและชัดเจน  ดังนี้
        1.  การออกแบบสื่อต้องมีการจัดวางรูปแบบของสื่อมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันของหัวข้อ  สี  มีรูปทรง  และส่วนที่เป็นเนื้อหา
        2.  Power Point  แผนภาพ  แผ่นกระดาษ  และโปสเตอร์  นั้น ๆ ต้องจัดวางทิศทางของ
        3.  เนื้อหาให้อยู่ในแนวนอน  เรียงจากซ้ายไปขวา  จะทำให้ดูง่ายขึ้น
        4.  ไม่ใส่เนื้อหาบนสื่อมาก ควรมีที่ว่างให้ดูสบายตา  ใช้ข้อความแบบง่าย ๆ และชัดเจน
        5.  ใช้สี  เส้น  และตัวอักษร  เป็นสิ่งดึงดูดให้เห็นความแตกต่างในเรื่องที่นำเสนอ

ประโยชน์ของการนำเสนอข้อมูล
        1.  ทำให้ทราบขั้นตอนของการนำเสนอข้อมูลเป็นรูปเล่ม
        2.  ทำให้ทราบขั้นตอนของการนำเสนอข้อมูลด้วยวาจา  หรือการรายงานปากเปล่า
        3.  ทำให้ทราบขั้นตอนของการนำเสนอข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น